ทานาบาตะ คืออะไร
วันทานาบาตะ (Tanabata) ตรงกับวันที่ 7 กรกฎาคมของทุกปี หรือจำง่ายๆ ว่าวันที่ 7 เดือน 7 เป็นเทศกาลแห่งการขอพรที่มีที่มาจากตำนาน ดังนี้
ตำนานทานาบาตะ
ญี่ปุ่นรับตำนานนี้มาจากจีน โดยเป็นตำนานความรักของเจ้าหญิงทอผ้าโอริฮิเมะ และชายเลี้ยงวัวฮิโกโบชิ ทั้งสองตกหลุมรักกันและเริ่มละทิ้งหน้าที่ของตน เมื่อบิดาของโอริฮิเมะที่เป็นผู้ปกครองสวรรค์รู้เข้าก็โกรธมาก จึงแยกทั้งคู่ออกจากกันโดยมีแม่น้ำสวรรค์หรือทางช้างเผือกคั่นกลาง
เจ้าหญิงโอริฮิเมะโศกเศร้าเสียใจมาก บิดาจึงเห็นใจจึงอนุญาตให้ทั้งสองมาพบกันได้ปีละ 1 ครั้งในวันที่ 7 เดือน 7 นี้เอง โดยในวันนั้น นกคาซาซากิจะมาเป็นสะพานให้ทั้งสองได้ข้ามทางช้างเผือกมาพบกัน ทั้งคู่จึงกลับมาตั้งใจทำงานและเฝ้ารอให้ถึงวันทานาบาตะที่จะได้พบกันปีละครั้ง
สามเหลี่ยมฤดูร้อน
ตำนานนี้อ้างอิงจากดวงดาวบนฟ้า ในช่วงฤดูร้อน เราจะเห็นดาวโอริฮิเมะหรือดาวเวก้า (Vega) และดาวฮิโคโบชิ หรือดาวอัลแตร์ (Altair) ส่องแสงสว่างไสว เมื่อรวมกับดาวเดเนบ (Deneb) อีกดวง ดาว 3 ดวงนี้จะเป็น “สามเหลี่ยมฤดูร้อน” ที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้
เทศกาลทานาบาตะทำอะไรบ้าง
ในช่วงเทศกาล สถานที่หลายแห่งในญี่ปุ่นจะมีการประดับประดาอย่างเป็นเอกลักษณ์ ได้แก่ ต้นไผ่แขวนกระดาษขอพร โคมพู่กระดาษ และเครื่องประดับต่างๆ ที่ทำจากกระดาษสีสันสวยงาม
เขียนแผ่นขอพร
ชาวญี่ปุ่นมีธรรมเนียมเขียนกระดาษขอพรทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่เรียกว่า ทันซาคุ (Tanzaku) แล้วนำไปแขวนกับกิ่งไผ่
ทันซาคุมีหลายสี โดยแต่เดิมแล้วมี 5 สีด้วยกัน ซึ่งแฝงความหมายแตกต่างกันไป ความหมายดั้งเดิมแต่โบราณของแต่ละสีได้แก่
- สีน้ำเงิน การเติบโต ความก้าวหน้า
- สีแดง คำขอบคุณและความปรารถนาดีต่อพ่อแม่และผู้ใหญ่
- สีเหลือง ความสัมพันธ์
- สีขาว ความตั้งใจที่จะทำให้สำเร็จ
- สีม่วง การเรียน
โดยปัจจุบันมีสีและความหมายที่หลากหลายขึ้น ชาวญี่ปุ่นเชื่อว่าเมื่อเขียนคำอธิษฐานและแขวนกับต้นไผ่จะทำให้คำอธิษฐานเป็นจริง
เครื่องประดับในเทศกาลทานาบาตะ
นอกจากต้นไผ่และกระดาษขอพรแล้ว ทานาบาตะยังมีการประดับประดาอีกหลายอย่าง เช่น
- ฟุกินากาชิ โคมกระดาษ แทนคำอธิษฐานให้โอริฮิเมะทอผ้าได้ดี
- คินจากุ คือ ถุงใบเล็กๆ หรือกระดาษพับเป็นรูปถุง แทนคำขอพรให้ร่ำรวย
- โอริสึรุ หรือนกกระเรียน ขอพรให้อายุยืนยาว
- อามิคาซาริ กระดาษที่ตัดให้เป็นรูปร่างคล้ายแห ขอพรให้การประมงรุ่งเรือง
- คาซุคาโกะ ตะกร้ากระดาษที่ใส่เศษกระดาษจากการทำเครื่องประดับอื่น สื่อถึงการรักษาความสะอาด หน้าตาคล้ายอามิคาซาริ แต่อามิคาซาริจะคว่ำลง ส่วนคาซุคาโกะจะหงายขึ้น
- คามิโกะ กระดาษที่พับเป็นตุ๊กตาหรือกิโมโน เชื่อว่าจะช่วยปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ
- เครื่องประดับอื่นๆ ที่ทำจากกระดาษ
มีการจัดเทศกาลทานาบาตะทั่วญี่ปุ่น ตั้งแต่ตามตามย่านการค้า ห้างสรรพสินค้า หน้าสถานี ศาลเจ้า โรงเรียน ไปจนถึงบางพื้นที่ที่จัดเป็นงานใหญ่ประจำปี บางที่มีการแสดงและร้านแผงลอย อาจใส่ชุดยูกาตะไปเที่ยวเช่นเดียวกับเทศกาลฤดูร้อนอื่นๆ