บริษัท ดีแพลนทัวร์ จำกัด
083-751-6663 088-646-6637    096-926-1949    096-896-9386 dplantour@gmail.com   @dplantour

รู้จัก กิโมโน (Kimono) : ชุดประจำชาติญี่ปุ่น คืออะไร มีแบบไหนบ้าง

การเเต่งชุดกิโมโน (Kimono)

กิโมโน (kimono) ถือเป็นชุดประจำชาติของญี่ปุ่น ใส่ได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง ปัจจุบันนิยมใส่ในโอกาสพิเศษ เช่น งานเทศกาล พิธีต่างๆ เป็นต้น กิโมโนบางประเภทถือเป็นชุดพิธีการอย่างหนึ่ง

คำว่ากิโมโน แปลตรงตัวคือ สิ่งที่ใช้สวมใส่ เพราะเป็นเครื่องแต่งกายที่ชาวญี่ปุ่นสมัยก่อนสวมใส่กันในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้ายุคเมจิ เสื้อผ้าแบบตะวันตกเริ่มแพร่หลาย บทบาทของกิโมโนจึงถูกลดทอนเป็นชุดที่ใส่ในโอกาสพิเศษไป

วิธีใส่กิโมโน

  • ใส่ถุงเท้าที่เรียกว่า ทาบิ (Tabi) ซึ่งเป็นถุงเท้าทรงสองนิ้ว ซึ่งพอแต่งเต็มยศแล้วจะก้มลงสวมถุงเท้าลำบาก จึงแนะนำให้สวมถุงเท้าก่อนเป็นอย่างแรก
  • สวมเสื้อตัวในซึ่งเป็นเสื้อตัวยาวเนื้อบาง จุดสำคัญคือต้องเอาสาบเสื้อซ้ายทับขวา
  • สวมเสื้อที่เรียกว่า นากะจูบัง (Nakajuban) ควรจัดคอเสื้อให้ดี ให้เห็นปกเสื้อประมาณ 1 นิ้วเมื่อสวมกิโมโนทับ
  • สวมกิโมโนทับ จากนั้นผูกเชือกที่ชื่อว่า โคชิฮิโมะ (Koshihimo) เพื่อยึดให้ชุดอยู่กับที่
  • พันผ้าคาดเอวที่เรียกว่า โอบิ (Obi) ให้แน่น วิธีการผูกโอบิมีหลายแบบ แต่เนื่องจากวิธีผูกโอบิค่อนข้างซับซ้อน ปัจจุบันจึงมีโบสำเร็จรูปให้เสียบกับโอบิเลย
  • รองเท้าที่ใส่กับกิโมโนเรียกว่า เกตะ (Geta) หรือเกี๊ยะ

ประเภทของกิโมโน

ชิโรมุคุ (Shiromuku) คือกิโมโนสีขาวล้วน แขนเสื้อยาว ชายกระโปรงยาวลากพื้น มักใส่กับหมวกครอบผมสีขาว ใช้เป็นชุดแต่งงานของฝ่ายหญิง ส่วนแบบมีสีสันลวดลายเรียกว่า อิโระอุจิคาเกะ (Iro uchikake)

คุโระโทเมะโซเดะ (Kuro-tomesode) โทเมะโซเดะ คือชุดกิโมโนสีดำ มีตราสัญลักษณ์ มีลวดลายบริเวณครึ่งล่าง เป็นชุดพิธีการของผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว

อิโระโทเมะโซเดะ (Iro-tomesode) คือโทเมะโซเดะที่ไม่ใช่สีดำ ใช้ออกงานสังสรรค์ต่างๆ เดิมทีเป็นชุดสำหรับผู้หญิงแต่งงานแล้ว แต่ปัจจุบันผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานก็ใส่ได้เช่นกัน

โมฟุกุ (Mofuku) คือกิโมโนสีดำล้วน มีตราสัญลักษณ์ ต่างจากคุโระโทเมะโซเดะตรงที่ไม่มีลวดลาย ใช้สำหรับไว้ทุกข์หรือใส่ไปงานศพ

ฟุริโซเดะ (Furisode) คือกิโมโนที่มีชายแขนเสื้อยาว เป็นชุดทางการของผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงาน ใส่ในงานพิธีการต่างๆ เช่น พิธีบรรลุนิติภาวะ

โฮมงกิ (Homongi) คือกิโมโนที่เป็นทางการรองมาจากฟุริโซเดะ สีสันสดใส ต่างจากอิโรโทเมะโซเดะตรงที่มีลวดลายทั้งตัว ใส่ในงานเลี้ยงสังสรรค์

สึเคซาเกะ (Tsukesage) คือโฮมงกิที่ประยุกต์ให้เรียบง่ายกว่า

อิโระมุจิ (Iromuji) คือกิโมโนที่ย้อมเป็นสีเดียว (ยกเว้นสีดำ) ไม่มีลวดลาย

โคะมง (Komon) คือกิโมโนที่มีลวดลายเล็กๆ ทั่วชุด ใช้ในงานไม่เป็นทางการ

สึมุกิ (Tsumugi) คือกิโมโนที่ใช้ใส่ในชีวิตประจำวัน

กิโมโนใส่ในโอกาสอะไรบ้าง

แม้จะเป็นชุดประจำชาติ แต่คนไทยไม่ได้ใส่ชุดไทยไปเที่ยวฉันใด คนญี่ปุ่นก็ไม่ได้ใส่ชุดกิโมโนบ่อยฉันนั้น โดยมักใส่ในโอกาสต่อไปนี้

พิธีชิจิโกะซัง (Shichi-go-san)

พิธีชิจิโกะซัง คือ พิธีรับขวัญเด็กที่อายุครบ 3 ขวบ 5 ขวบ และ 7 ขวบ เด็กๆ จะได้ใส่กิโมโนไปไหว้ขอพรที่ศาลเจ้า

พิธีบรรลุนิติภาวะ (Seijin no hi)

พิธีบรรลุนิติภาวะ คือ พิธีฉลองเมื่ออายุครบ 20 ปี เครื่องแต่งกายไม่กำหนดตายตัว แต่ผู้หญิงจะนิยมใส่ฟุริโซเดะ ส่วนผู้ชายมักใส่ฮากามะหรือสูท ทั้งนี้จะใส่ชุดสุภาพก็ได้เช่นกัน

วันสำเร็จการศึกษา

ในพิธีจบการศึกษาของญี่ปุ่น โดยเฉพาะระดับมหาวิทยาลัย ผู้หญิงจะใส่กิโมโนและสวมฮากามะทับครึ่งล่าง นิยมใส่กับรองเท้าบูท

พิธีแต่งงานแบบญี่ปุ่น

เจ้าสาวจะใส่ชิโรมุคุหรืออิโระอุจิคาเกะ ส่วนเจ้าบ่าวจะใส่ชุดที่เรียกว่ามงสึกิฮาโอริบากามะ จัดพิธีที่ศาลเจ้า

การไหว้ขอพรปีใหม่

เมื่อขึ้นปีใหม่ ชาวญี่ปุ่นจะมีธรรมเนียมไปไหว้ขอพรที่ศาลเจ้า ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นนิยมใส่ชุดปกติ บางคนอาจใส่ชุดกิโมโนในโอกาสนี้ก็ได้

โอกาสอื่นๆ

นอกจากนี้กิโมโนยังใส่ได้ในหลายโอกาส เช่น การแสดงดนตรีญี่ปุ่น พิธีชงชา การจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่น เวลาเข้าร่วมงานเลี้ยงต่างๆ หรืองานศพ เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มักจะใส่กิโมโนต่างเครื่องแบบอีกด้วย

นอกจากนี้ญี่ปุ่นยังมีร้านเช่าชุดกิโมโน ยูกาตะ และชุดญี่ปุ่นอื่นๆ ให้นักท่องเที่ยวใส่ถ่ายรูปด้วยเช่นกัน ใครสนใจใส่กิโมโนถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ลองดูบทความต่อไปนี้ได้เลย